อยู่กับมะเร็งอย่างสันติถึง 8 ปี

เรื่องเล่าจากเยือนเย็น
ใส่ท่อช่วยหายใจ… ทรมานขนาดไหนกัน?
คุณดาด้า สาวโสดร่างเล็กใส่แว่น เริ่มป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านมขวา ชนิด ER-, PR-, HER2+ เมื่ออายุ 35 ปี (พ.ศ. 2560) ได้รับการผ่าตัด เคมีบำบัด และฉายรังสี กินยาต้านฮอร์โมน tamoxifen โรคสงบ ต่อมาเมื่ออายุ 40 ปี (พ.ศ. 2565) มีก้อนที่เต้านมด้านซ้าย ได้รับการผ่าตัดพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิด triple negative (ER-, PR-, HER2-) ระยะที่ 1 ได้รับการผ่าตัดตามด้วยยาเคมีบำบัด ต่อมาในปี 2566 พบว่ามะเร็งกระจายไปปอด จึงได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อีก 3 ขนาน พบมีลิ่มเลือดในเส้นเลือด กิน warfarin ตามด้วยการฉายรังสีในปี 2567 หลังฉายรังสีมีอาการเจ็บคอ กินไม่ได้หลายวัน ครอบครัวนำส่งโรงพยาบาล หมอตรวจพบว่ามีลิ่มเลือดในปอด จึงใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจ admit ICU ด่วน โดยคุณดาด้าสลบไป และไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาเป็น-ตาย หลายสัปดาห์ คุณดาด้าจึงเล่าประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดของ
ตัวเองที่มีต่อการรักษาในไอซียู 3 วัน 2 คืน ลงไว้ใน facebook ของเธอเองดังนี้
“ความเจ็บปวดระดับเซลล์ “
เราแอดมิดเข้าโรงพยาบาลด้วยหวังใจว่าจะได้รับการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือ หรือยาบรรเทาอาการอะไรก็ได้ เพราะกินไม่ได้มาหลายวัน ร่างกายมันอ่อนเพลียเกินจะไปต่อไหว แต่ด้วยอะไรก็ไม่รู้ พอเข้าฉุกเฉิน หมอบอก “คนไข้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจแล้วนะคะ” …คำพูดเดียวจากเราตอนนั้นคือ “ห๊ะ!! อะไรนะคะ” แล้วก็ภาพตัดเลย มาเปิดอีกที ก็ได้ยินเสียงเครื่องมือแพทย์ เสียงสัญญาณชีพ เสียงหมอเสียงพยาบาล ไฟสว่างจ้าแต่ภาพที่เห็นเบลอๆ (ไม่ได้ใส่แว่น) และเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่นี่ที่ไหน แล้วทำไมมันเหมือนมีอะไรในคอตลอดเวลา อ๋อ ท่อช่วยหายใจสินะ อ่า เราอยู่ในไอซียู สักพักพยาบาลเห็นเราตื่น ก็มาทำอะไรสักอย่าง จำไม่ได้ แล้วก็หลับไปแบบสะลึมสะลือ ตื่นมาอีกทีด้วยความงง แม่กับพ่อเข้ามาหา จากนั้นก็มีผู้คนมากมายทยอยเข้ามาทีละ 2-3 คน ในใจก็งงว่ามากันทำไมเหรอ คนเยอะจัง มีคำพูดกึ่งอำลาอาลัย แต่ใจเราก็ยังแค่สงสัยงงงวยมากกว่าจะรู้สึกเป็นอย่างอื่น
“ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดเริ่มเปิดฉากขึ้นแล้ว เรามีอาการปวดฉี่มาก เลยให้เพื่อนเอากระดาษมาให้เราเขียน พยาบาลก็บอกฉี่ได้เลยค่ะ โดยไม่บอกว่าใส่ท่อฉี่ไว้แล้ว ไอ้เราก็ไม่สบายใจ เลยถามไปอีกรอบ เพราะมันก็ยังปวดอยู่ นางก็เริ่มหงุดหงิดเล็กน้อยแล้วก็บอก “ก็บอกแล้วว่าฉี่เลยค่ะ” เลยช่างมันแระ แล้วปัญหานี้ก็หายไป จบไปเรื่อง”
“แล้วความรู้สึกแย่มากๆ ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงเช็ดตัวเปลี่ยนผ้าปูเตียง ทุกคำพูดที่เปล่งออกมา โคตรทำร้ายใจคนป่วย เข้าใจแล้วว่าคุณตาที่เสียชีวิตไป และคนแก่หรือคนป่วยที่เขาเจ็บหนักกว่านี้ รู้สึกยังไง เมื่อต้องมาโดนคำพูดทิ่มแทงและการกระทำแรงๆ เหล่านี้”
“ทุกการเคลื่อนไหวที่พยาบาลทำกับเรา เหมือนทำกับคนไม่มีชีวิตแล้ว ทั้งรุนแรง ไร้ความปรานี ไม่มีคำว่า คะ นะคะ ออกมา แม้กระทั่งคำว่า นะ ก็ยังยากเลย”
“ไม่ต้องขยับ นอนนิ่งๆ อย่าเอามือมาแกะ” (ในหัวก็คิด ให้ใช้มือที่ 3 เหรอ นี่ก็รัดทั้ง 2 มือกับเตียงไว้ซะแน่นเลยจะเอามือที่ไหนมาแกะ และมั่นใจว่านอนนิ่งมาก)
“โอ้ย น้ำลายไหลออกมาอีกแล้ว เลอะหมดเลยเนี่ย ก็บอกว่ากลืนได้ น้ำลายอ่ะกลืนได้” แล้วก็มาเช็ดปากให้อย่างเสียไม่ได้ ใจก็อยากให้เธอลองมาใส่ท่อแล้วกลืนน้ำลายเองดูบ้างจัง ทำยังไงเหรอ?
“ทุกครั้งที่ไอโดยที่มีท่อคาอยู่ ก็เจ็บปวดจะแย่แล้ว มันเจ็บที่อกมากๆ
สั่นไปทั้งตัวตอนไอ ยิ่งตอนดูดเสมหะ ที่ต้องใส่สายยางเข้าไปดูดเสมหะออกมา เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ทุกครั้ง ให้ความรู้สึกเหมือนล้วงคอแบบเอามือยัดเข้าไปทั้งมือเพื่ออ้วกออกมา และไม่รับรู้ถึงลมหายใจของตัวเองเลยด้วยซ้ำ แล้วจะให้ฉันกลืนน้ำลายโดยง่ายได้อย่างไร กรุณาบอกฉัน เอาบุญทีเถอะ”
“ไหนจะตอนแปรงฟัน เหมือนกระชากวิญญาณออกจากร่าง เอาแปรงใส่ยาสีฟัน และแปรงแค่ฝั่งเดียว จากนั้นก็ใช้ไซริ้งฉีดน้ำยาบ้วนปากเข้าไปทำความสะอาดแล้ว ดูดน้ำออกมาทิ้ง พร้อมคำพูดและการกระทำหนักมือสุดๆ” “อย่ากลืนนะ นี่น้ำยาบ้วนปาก”
“ไม่แน่ใจว่าความเจ็บจากการใส่ท่อช่วยหายใจ กับการดูแลรักษาแบบฮาร์ดคอร์ของพยาบาล อันไหนทำให้เจ็บปวดได้มากกว่ากัน แต่ไม่ว่าจะทางไหนก็ทำให้เราทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ขอกระดาษมาเขียน
“ขอยุติการรักษาตอนนี้ เดี๋ยวนี้”
จะเป็นจะตายช่างมัน แต่ฉันทนกับสภาพนี้ไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว เมื่อพ่อแม่เซ็นยินยอม ถึงเวลาเอาท่อออก รู้สึกโล่งแบบเหมือนอ้วกทั้งไส้ออกมา “จบซะทีความทรมานนี้”
แต่ความเจ็บปวดนั้นยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา บางครั้งรู้สึกเศร้าขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย น้ำตาไหลออกมาเฉยๆ แค่นึกถึงช่วงเวลานั้น เลยขอตั้งชื่อว่ามันคือ
“ความเจ็บปวดระดับเซลล์ ทุกอณูของร่างกาย” จดจำความเจ็บปวดนี้ได้แจ่มชัด และเรากำลังพยายามเดินผ่านทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามนี้อย่างยากเย็น แต่เต็มไปด้วยความหวัง แม้มันจะไม่หายไป แต่ก็จะไม่ทำร้ายกันอีก ไม่ว่าจะเป็นทางกาย (การรักษา) หรือทางใจ (เก็บเรื่องแย่ๆ มาตอกย้ำตัวเอง) ก็ตาม
หมายเหตุ : เหตุผลที่เล่าเรื่องนี้ มิได้จงใจหรือประสงค์จะทำให้เป็นคดีความต่อกัน ไม่ต้องการเอาผิด ลงโทษ หรือคำขอโทษจากคนๆนี้ แต่อย่างใด เพียงแค่อยากถ่ายทอดประสบการณ์และบอกต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวเองให้รู้กันบ้าง นานๆ ที และต้องบอกว่าพยาบาลคนอื่นในห้องไอซียูที่น่ารักๆ อ่อนโยนก็มี แค่เรามาเจอกันช้าไป
แต่ก็หวังใจว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย ขอให้ ใจดี กับคนไข้บ้างเถิด เพราะคำพูดดีต่อใจอาจรักษาโรคร้ายให้หายได้เลยนะ ส่วนญาติก็อยากให้เคารพการตัดสินใจของคนไข้ เข้าใจในความทุกข์ทรมานนี้ ไม่ยื้อ ไม่ดึงดัน แต่หันมาเยียวยาหัวใจกันดีกว่า
.
หลังจากที่ดาด้าออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน มีญาติสนิทของเธอได้แนะนำให้ติดต่อเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม แล้วเธอโทรติดต่อเข้ามา นี่คือจุดเริ่มต้นที่คุณหมอและทีมงานเยือนเย็น ฯ ได้มีโอกาสดูแลเธอ แบบ “ไม่ยื้อ ไม่ดึงดัน แต่หันมาเยียวยาหัวใจกันดีกว่า”
คุณดาด้าจบวารสารศาสตร์ ชอบทำงานเขียนข่าว บทความให้หนังสือพิมพ์ และนิตยสารไทยหลายเล่ม ช่วงหลังรับงาน free-lancer เขียน content ให้กับวงการโฆษณาซึ่งเป็นงานที่เธอชอบมาก จนเมื่อป่วยจึงต้องรับงานน้อยลง ดาด้ามีเพื่อนเป็นที่รักมากมายผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมห้อมล้อมผลัดกันมาดูแลที่บ้าน video call คุยกันทุกวันอย่างมีความสุข ดาด้าชอบกินของอร่อยกับเพื่อนๆ ตามที่คนได้รีวิวไว้ และได้ไปเที่ยวหลายแห่ง เมื่อเริ่มป่วยดาด้าพยายามรับการรักษาอย่างเต็มที่มาตลอดอย่างดีที่สุด แต่หลังจากเข้าไอซียูแล้ว ดาด้าเปลี่ยนใจยอมรับสัจธรรม ทำใจได้ว่าจะไม่หายและจะต้องตาย เธอไม่กลัวตาย ได้ใช้ชีวิตมาสมบูรณ์แล้ว เธอห่วงแต่แม่เพียงคนเดียว ดาด้าจึงฝากเพื่อนๆให้ช่วยดูแลแม่ของเธอ เพื่อนๆ ให้คำมั่นสัญญา เธอจึงหมดห่วง
หลังจากที่เราได้เยี่ยมดาด้าและครอบครัวที่บ้าน “Family meeting” แล้ว ทีมงานเยือนเย็น ฯ จะสอบถามทักทาย อัพเดทอาการกันทุกวันทางไลน์กลุ่ม จัดการให้เธอหายเหนื่อย สบายกาย สบายใจ แล้วทีมงานจึงเชียร์ให้ดาด้าเขียนบทความเรื่องราว และลงเฟสบุ๊คของเธอดังข้างต้น เพื่อแบ่งปันทุกคนที่ได้อ่าน ส่งกำลังใจให้ดาด้ามากมายด้วยความรักทั้งคำพูด และส่งสติกเกอร์มาให้เธอ
นั่นคือการเยียวยาหัวใจเธอ ตามที่เธอได้กล่าวไว้
เราติดตามอาการของเธออย่างต่อเนื่อง เราส่งกำลังใจทักทายกันทุกวัน
ในระหว่างที่ดาด้าอยู่กับมะเร็งอย่างสันติที่บ้านกว่าครึ่งปี ดาด้ามีอาการเหนื่อยจากมะเร็งในปอดมากขึ้นตามลำดับ เยือนเย็นได้จัดให้เธอกินมอร์ฟีน เพิ่มปริมาณขึ้นจนหายเหนื่อย จาก 30 มิลลิกรัมต่อวัน ในเดือนแรก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึง 100 มิลลิกรัมต่อวันในเดือนที่ 6 ระหว่างทางดาด้ามีแขนบวมจากลิ่มเลือดอุดตันเพิ่ม เยือนเย็นได้ตรวจเลือดให้ที่บ้าน และปรับยาวาร์ฟาริน ละลายลิ่มเลือด ช่วงหนึ่งมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ เราจัดยาคุมการเต้นของหัวใจไม่ให้เหนื่อย ดาด้าจึงไม่ต้องไปโรงพยาบาลอีกเลย
เพื่อนรักของเธอเล่าว่า เหมือนเธอรับรู้วันที่เธอจะเดินทางไกล 4 วันล่วงหน้า เธอได้ไปทานข้าวร่วมกันกับคุณพ่อ คุณแม่ และคุณย่า และเธอคุยกับคุณแม่นานมากจนข้ามคืน ในวันสุดท้ายดาด้านอนหลับยาวไปหนึ่งวันเต็ม ๆ
ในวันที่ดาด้าจะเดินทางไกล เราได้ไปอำลาเธอที่บ้าน และเตรียมความพร้อมให้ครอบครัว เพื่อนรักของเธอทยอยมาร่วมกันส่งเธอ และเป็นกำลังใจให้แม่ คุณแม่เข้มแข็งมาก รักลูกเป็นที่สุด และเคารพการตัดสินใจของลูก ด้วยพ่อของเธอมีครอบครัวใหม่แต่ให้ความรักผูกพันเสมอมา และในวันนั้นพ่อของเธอรับทราบ กำลังเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาหาลูก เราจึงขอให้พ่อจอดรถ และ video call คุยกับลูกสาวคนเดียว ซึ่งเธอรับรู้ได้ เป็นการอำลาผ่านสายโทรศัพท์สายสุดท้ายในชีวิตของเธอ
เหมือนดาด้าหมดห่วงแล้ว เธอค่อยๆหลับตาไปอย่างสงบ…
ขอขอบคุณคุณดาด้า ผู้เป็นที่รักของทุกคน ขอบคุณเรื่องราวของเธอที่เขียนเรื่องเล่าด้วยตนเองก่อนเดินทางไกล เพื่อเป็นวิทยาทาน
ขอบคุณคุณแม่และครอบครัวที่อนุญาตนำเรื่องเล่านี้มาเผยแพร่ รวมถึงรูปภาพจากเพื่อน ๆ ที่น่ารักและรักเธอตลอดไป…
#เยือนเย็น
#เยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
#palliativecare
#ดูแลประคับประคอง
#ดูแลที่บ้าน
#คุณภาพชีวิต
#อยู่ดีตายดี
#ชีวามิตร