อีกสองวันได้ไหมหมอ?
ห้องฉุกเฉินฤาจะสงบเท่าบ้านแสนรัก อบอุ่นด้วยลูกหลานใกล้ชิด หากหมอที่โรงพยาบาลรู้ว่าเป็นผูัป่วยระยะท้าย ไม่มีทางรักษาหาย โอกาสที่จะได้เตียงรับไว้ในโรงพยาบาล (รัฐ) ก็จะน้อยมาก เรียกว่าเป็นลำดับหลังสุด
เรื่องเล่าจากเยือนเย็น ” ยื้ออีกสองวันได้ไหมหมอ? “
“คุณหมอคะ ตอนนี้พ่อหายใจแบบนี้” ลูกสาวส่งคลิปวิดีโอมาให้ดูทางไลน์ เห็นพ่อหายใจเหนื่อย เหมือนมีเสมหะอยู่ข้างในปอด คุณพ่อ อายุ 81 ปี เป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก ขาขวาพิการ แต่ช่วยเหลือตัวเองได้ ขี่มอเตอร์ไซค์ได้ เป็นช่างทำกุญแจอยู่ย่านสำเหร่ เคยเป็นลำไส้อุดตันเมื่ออายุ 76 ปี ผ่าตัดเปิดทวารเทียม หลังจากนั้นสบายดี
จนเมื่อเดือนตุลาคม ติดเชื้อในปอด หัวใจล้มเหลวจากหัวใจขาดเลือด ระหว่างที่อยู่รพ.ใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ แต่พ่อไม่ร่วมมือด้วย พยายามดึงท่อออกเองจึงต้องมัดมือไว้ 2 สัปดาห์ผ่านมา แพทย์แนะนำให้เจาะคอ ทางครอบครัวปฏิเสธ และไม่สบายใจที่จะถกเถียงกับหมอเรื่องที่เชียร์ให้เจาะคอ แต่ในที่สุดพ่อก็ได้ถอดท่อออกได้ เมื่อหมอคุยเรื่องการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจมีความเสี่ยง ครอบครัวไม่ยอมรับความเสี่ยงนั้น จึงไม่ทำบอลลูน อยู่รพ.เกือบสองเดือนพ่อจึงได้กลับบ้าน
หลังจากกลับบ้านได้สองสัปดาห์ มีการติดเชื้อในปัสสาวะเนื่องจากต่อมลูกหมากโต ใส่สายสวนปัสสาวะ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อยู่โรงพยาบาลอีก 21 วัน จึงกลับบ้าน อาการคงตัว แต่ติดเตียง นั่งได้แต่ไม่นาน มีแผลที่หลังเท้าจากการฉีดยาทางน้ำเกลือ อยากกินก๋วยจั๊บแต่ครอบครัวให้แต่ข้าวต้ม กินได้น้อย ขาบวม ขับถ่ายทางทวารเทียม ปัสสาวะใส่ผ้าอ้อมได้ คุณแม่และลูกสาวทั้งสามคน มองว่าพ่อแก่แล้ว ไม่ต้องการยื้อชีวิต ยอมรับความตายได้ โดยไม่อยากให้พ่อทรมาน เลือกไม่ไปโรงพยาบาลอีก ครอบครัวจึงติดต่อ เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อปรึกษาวางแผนการดูแลที่บ้าน เราจึงได้ไปเยี่ยมบ้านครั้งแรก
เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พ่อนอนติดเตียง พูดได้แต่ดูเหนื่อย หัวใจทำงานน้อย ขาบวมมาก มีลูกสาวและลูกจ้างเป็นผู้ดูแล ประเมินแล้วพบว่า หัวใจล้มเหลว ไตเสื่อม จึงบวมมาก เราได้ให้ความมั่นใจว่าครอบครัวสามารถดูแลที่บ้านได้ บำบัดความเหนื่อยโดยการให้ยาขับปัสสาวะเพิ่ม และให้มอร์ฟีนในปริมาณที่เหมาะสม จะบำบัดอาการได้ดี ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี และพร้อมที่จะดูแลที่บ้านจนเสียชีวิต ไม่ต้องไปโรงพยาบาลอีก แต่เวลาไม่แน่นอนสองสัปดาห์ต่อมา มีอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้น เราไปตรวจดูพบว่ามีอาการเหมือนหอบหืด จึงให้ยาขยายหลอดลมพ่นด้วย พ่นได้ทุก 1-2 ชั่วโมง และนำถังออกซิเจนไปให้ใช้ เพื่อใส่ออกซิเจนเมื่อรู้สึกเหนื่อย หลังจากนั้น พ่ออาการทรงตัว ทานอาหารที่ชอบได้บ้าง
สามวันที่ผ่านมาพ่อดูเหนื่อยหอบมากขึ้น กินอาหารเกือบไม่ได้เลย ไม่ถ่าย ปัสสาวะน้อยลง แต่เมื่อวานเป็นวันไหว้ตรุษจีน ลูกหลานมาที่บ้านครบทุกคน พ่อดูดีขึ้น พูดได้ กินอาหารได้มากกว่าทุกวัน ตกกลางคืนพ่อเริ่มสับสน เห็นสิ่งที่ไม่มีจริง บวมมากขึ้น ปัสสาวะไม่ออกเลย จึงได้แจ้งข่าวทางไลน์ในตอนเช้า
ในคลิปวิดีโอนั้น เราแอบได้ยินเสียงแม่พูดกับลูกสาวว่า “พาไปโรงพยาบาลดีมั้ยเนี่ย ….. ถ้าเกิดมันเป็นอะไรไป เราจะทำอะไรไม่ถูก” เราจึงไลน์ถามว่า จะให้ผมไปดูที่บ้านไหม ลูกสาวตอบรับ เราจึงรีบไปดูที่บ้าน คุณพ่อนอนหลับหมดสติแล้ว บวมทั่วตัว หายใจลึกแต่ช้า ฟังปอดพบว่าอยู่ในสภาวะน้ำท่วมปอด ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า ออกซิเจนแซท 85% จึงแจ้งแก่ลูกสาวว่า พ่อใกล้หมดเวลาแล้ว ให้เชิญแม่มาคุยด้วย แม่จึงลงมาจากชั้นบน
“คุณหมอ เราพาโรงพยาบาลดีมั้ย?” “คุณพ่อใกล้หมดเวลาแล้ว ถ้าเราอยู่ที่บ้าน พ่อก็จะหมดลมเองอย่างสงบในเวลาไม่นานนัก อาจจะครึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง หรือคืนนี้ แต่ถ้าเรียกรถโรงพยาบาล พ่อคงจะโดนใส่ท่อ เจาะเลือด เหมือนรอบที่แล้ว อาจจะยืดเวลาได้สักหน่อย ก็คงจะตายอยู่ดีที่ห้องฉุกเฉิน วุ่นวายกันไปหมด”
“ถ้าเกิดตายที่นี่มันจะยุ่งยากหรือเปล่า? เพื่อน ๆ เขาบอกว่าพาไปตายโรงพยาบาลง่ายกว่า” “ตายที่บ้านไม่ยุ่งยากหรอกครับแม่ ผมดูแลมาหลายร้อยคนแล้ว เดี๋ยวให้ลูกสาวไปแจ้งความที่ สน. ตำรวจเข้าจะมาที่บ้านพร้อมหมอนิติเวช หมอได้เขียนเอกสารการเจ็บป่วยของพ่อไว้แล้ว ตำรวจเขาอ่าน ๆ ถ่ายรูปแล้วก็ทำรายงาน แม่ไม่ต้องทำอะไรเลย เสร็จแล้วก็ส่งศพไปวัดได้เลย รถมูลนิธิ เช่นร่วมกตัญญู ปอเต็กตึ้ง ให้บริการส่งได้
“แล้วทำไมเพื่อน ๆ บอกว่าตายที่บ้านยุ่งยาก เราไม่รู้จะทำยังไง บ้านเราไม่มีลูกผู้ชายที่จะช่วยขนได้” “ถ้าเขาตายที่บ้านไม่มีหมอมาดูแล ไม่มีเอกสารการเจ็บป่วย ก็คงยุ่งยาก อาจจะต้องส่งไปผ่าศพจริง ๆ ครับ แต่เรามีเอกสารการแพทย์แล้ว ตำรวจอ่านแล้วก็จะทำรายงานว่าตายธรรมชาติ เจ้าหน้าที่มูลนิธิช่วยจัดการขนศพให้ทุกอย่าง แม่แค่ตัดสินใจว่าจะให้เขาไปส่งที่วัดไหน เรื่องฉีดยาจะทำที่บ้านก็ได้ หรือที่วัดก็ได้ มีคนจัดการได้หมด ตำรวจเขาแนะนำวิธีติดต่อให้ได้
“ยื้ออีกสักสองวันได้ไหมหมอ?…
วันนี้วันตรุษจีน เมื่อวานลูก ๆ มาไหว้กันไปแล้ว วันนี้เขาไปบ้านสามีกัน ไม่สะดวก” “ผมว่าให้พ่อเขาเป็นคนเลือกเองดีไหมครับ ว่าจะไปวันไหน เราไม่น่าจะให้เขาลำบากรอไปรอมา ถ้าไปโรงพยาบาลก็ไม่แน่ว่าจะยื้อได้หรือไม่ และไม่สงบอย่างที่พ่อเขาตั้งใจไว้”
“ตอนนี้เราเปิดเพลงให้พ่อฟังได้ หรือพ่อชอบสวดมนต์บ้างไหมนะครับ” “พ่อเขาเคยสวดนัมเมียว โอเร็งเงเคียว แต่ก่อนเขานำสวดเลยนะ ช่วงหลังป่วยเลยไม่ค่อยไปทำ” “ถ้างั้นเราไปชวนเพื่อนคนที่เคยสวดด้วยกันมาสวดให้พ่อดีไหม” แม่สั่งลูกสาวให้ติดต่อเพื่อนบ้านคนที่เคยสวดด้วยกันเผื่อจะมาสวดให้พ่อ “ระหว่างนี้แม่โทรแจ้งลูก ๆ ว่าพ่อใกล้หมดเวลาแล้ว จะได้ทราบทั่วกันนะครับ
แม่คุยกับลูกสาวว่าจะแจ้งใครบ้าง เพราะวันตรุษจีนเขาไม่ให้พูดถึงเรื่องอัปมงคล จึงตัดสินใจแจ้งข่าวเฉพาะลูก ๆ จากนั้นแม่ก็เริ่มโทรศัพท์บอกลูก ๆ ไลน์ติดต่อลูกสาวที่อยู่อเมริกา คุณพ่อเริ่มหายใจช้าลง ๆ ครึ่งชั่วโมงผ่านไปพ่อหายใจแบบ air-hunger เราจึงค้นหาบทสวดนัมเมียวโอเร็งเงเคียวในยูทูป และเปิดให้พ่อฟัง ได้สักสองนาทีพ่อก็หายใจเฮือกสุดท้าย จากไปอย่างสงบ
แม่มาจับมือกล่าวอำลำพ่อ สักพักหนึ่งแล้วโทรศัพท์แจ้งข่าวแก่ญาติ ๆ ต่อไป ลูกสาวไปแจ้งความตามระเบียบ เราแอบได้ยินบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างแม่กับลูกสาว ลูกเขย “ทำไมไม่ไปโรงพยาบาลล่ะ? ใคร ๆ ก็ปัมป์หัวใจกันทั้งนั้น ขึ้นหรือไม่ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง” แม่จึงต้องอธิบายยืดยาว ความว่า หมอมาดูแลที่บ้านแล้ว เพื่อให้พ่อได้จากไปอย่างสงบ
“พ่อเขาเลือกวันดี เพื่อจากไปเนอะ” แม่กล่าวกับเราในตอนสุดท้ายก่อนเราจะลากลับ…
ยุคนี้ตายดีที่บ้านได้ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด