อยู่สบายตายสงบ (ที่บ้าน) ประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้กำหนดฉากสุดท้ายของชีวิต
เรื่องโดย ธันยพร บัวทอง
มนุษย์นึกถึงความตายบ่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นความตายของตัวเองหรือพ่อแม่ที่แก่ชรา
เราอาจนึกจินตนาการถึงความตายของคนที่เรารัก ใช่หรือไม่ว่า หลายครั้ง เรากลับนึกถึงตัวเราเองต่างหากว่าจะเป็นอย่างไร ทำใจได้ไหม เมื่อเวลานั้นมาถึง
ก่อนวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมาไม่กี่วัน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวบางช่วงของ ประมวล ใจวิจิตร ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายวัย 67 ปี ที่จากโลกนี้ไปแล้วกว่า 2 ปี จากความทรงจำของลูกสาว อิรชิฏา ใจวิจิตร
ในช่วงท้ายของชีวิต ประมวลมีเจตจำนงค์ที่จะเลือกตายอย่างสงบที่บ้านท่ามกลางครอบครัว ไม่ใช่ที่โรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยเครื่องมือพยุงชีพในวันที่ร่างกายไม่อาจฝืนความเป็นไปของโรค
“ทำคีโมหลาย ๆ ครั้งเข้า คุณแม่ก็ไม่ไหว แม่บอกว่าการที่ทำแบบนี้ แม่คิดว่าจะเป็นมะเร็งตายดีกว่า ทำคีโมอาจจะทรมานกว่า เป็นมะเร็งอาจจะไม่ทรมานเท่าคีโมก็ได้ แม่คิดแบบนี้ก็ตัดสินใจว่าหยุด” อิรชิฏา เล่าถึงการตัดสินใจของแม่
ประมวล ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งที่ปอดก่อนในครั้งแรก เมื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดในครั้งต่อ ๆ มา พบว่ามะเร็งปรากฏที่ลำไส้ใหญ่ กระดูก และต่อมน้ำเหลือง
สองแม่ลูกเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งหลังจากแพทย์วินิจฉัยครั้งแรก กินระยะเวลากว่า 9 เดือน ในการพยายามรักษาด้วยการฉายแสงและเคมีทั้งสิ้น 18 ครั้ง การต่อสู้กับมะเร็งในอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย ทั้งการอาเจียน ท้องเสียรุนแรง และบาดแผลที่ลิ้น มือ เท้า เป็นความเจ็บปวดทรมานสาหัสที่ผู้เป็นลูกเห็นแม่ต้องเผชิญ
“เห็นด้วยไหมกับการตัดสินใจของคุณแม่”
อิรชิฏา ตอบว่า “สงสารที่ท่านปวดร้าวทุกสิ่งอย่าง” และไม่อยากเห็นคุณแม่ใช้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตเจ็บปวดจากการพยายามสู้กับโรคร้าย
“ไม่ว่าสูตรคีโม จะรุนแรงต่อเนื่องแค่ไหน รุนแรงแค่ไหน ท่านจะอยู่ได้เพียงเท่านี้ ก็ทำให้ตัดสินใจว่าการเจ็บปวดขนาดนี้ แล้วให้คุณแม่มีชีวิตที่เหลืออยู่อย่างทุกข์ทรมาน จนกว่าท่านจะจากไป มันอาจจะไม่ได้เป็นความคิดที่ไม่ได้สร้างสรรค์ และไม่ได้เป็นการกตัญญูต่อคุณแม่ เพราะว่าท่านจะต้องทรมานแบบนี้ในเวลาอันน้อยนิดของท่าน สู้ให้ท่าน อยู่อย่างมีความสุขที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่ ที่มีอยู่ดีกว่าถ้าเราทราบถึงขั้นนี้”
ในตอนแรกครอบครัววางแผนว่า เมื่อหยุดการรักษาจะใช้วิถีการดูแลแบบแพทย์ทางเลือกเป็นหลัก จนได้รู้จักกับ “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้ครอบครัวได้รู้จักกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองหรือ Palliative care
สิ่งที่ประมวลตอบออกไปในวันนั้น เป็นวิถีชีวิตที่เธอทำมาเนิ่นนานคือ การเดินทางสายพุทธศาสนาด้วยกิจวัตรการทำบุญเหมือนช่วงที่สุขภาพยังแข็งแรง
“คุณแม่บอกค่ะ อยากไปไหว้พระพุทธชินราชที่พิษณุโลก ที่บ้านเกิดของคุณแม่ แล้วก็อยากจะไปทำบุญต่อที่ท่านเคยชอบทำน่ะค่ะ คุณหมอก็บอกว่าให้ทำได้เลยนะ ให้พาไปเลย เมื่อหยุดคีโม คุณแม่ก็เริ่มฟื้นจากอาการแพ้ทุกอย่าง แล้วเราก็เดินทางไปกันได้ค่ะ” อิรชิฏา กล่าวถึงช่วงเวลาที่ คุณแม่ได้ใช้ชีวิตตามที่ต้องการในช่วงสุดท้าย ซึ่งเธอมองว่ามีส่วนช่วยในด้านจิตใจของแม่
“ทำให้ท่านอยู่ได้เหมือนบุญหล่อเลี้ยงท่าน จนท่านอยู่ได้เพิ่มขึ้น เวลาเพิ่มขึ้น ความทรมานที่ควรจะมากกว่านี้ก็สามารถจัดการได้”