คุณหมอครับ…ผมจะไปทำการุณยฆาต!!

คุณหมอครับ…ผมจะไปทำการุณยฆาต!!

น้องแบงค์ ชายหนุ่มโสดอายุ 24 ปี มีความพิการที่หลังคด ขาลีบ เดินไม่ได้ ต้องใช้วีลแชร์ช่วย นั่งนอนทำงานบนเตียงตลอด แต่…เขาคือ แชมป์นักกีฬาหมากล้อมประเทศไทย และเป็นนักกีฬาคนหนึ่งที่อาจจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง “อาเซียนพาราลิมปิกเกมส์ ” ที่ประเทศจีนในปีนี้ แต่ทว่า
โควิด-19 ทำให้การแข่งขันต้องเลื่อนออกไปเสียก่อน


โรคที่น้องแบงค์เป็น คือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่กำเนิด Spinal muscular atrophy type II (SMA2) โรคนี้พบได้น้อยมากๆ จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เดินไม่ได้ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อหลังที่ฝ่ออ่อนแรงทำให้กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว ปอดจึงมีพื้นที่หายใจน้อยกว่าคนปกติ โรคนี้ไม่มียาชนิดใดในโลกที่จะชะลอหรือหยุดความเสื่อมของกล้ามเนื้อ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม นอกจากแบงค์แล้ว น้องสาวคนเล็กก็เป็นโรคเดียวกันด้วย น้องแบงค์เป็นลูกชายคนโตของแม่กุ้งผู้เป็นมารดา ต้องดูแลลูกพิการถึงสองคน
เราได้รู้จักน้องแบงค์ครั้งแรกเมื่อเขาอายุ 18 ปี หลังจากแม่กุ้งย้ายบ้านแล้วไม่ได้ติดต่อกันอีก จนเมื่อปีที่แล้วมีเพื่อนบ้านติดต่อมาจึงได้พบกันอีกครั้ง น้องแบงค์ไม่เคยอยากไปโรงพยาบาลเลย การอยู่โรงพยาบาลไม่เคยช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น ครั้งสุดท้ายที่อยู่โรงพยาบาลคือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม จึงตอบโจทย์ให้กับน้องแบงค์และครอบครัว
น้องแบงค์เป็นคนมีความสามารถพิเศษมากกว่าคนปกติ เขามีสมองเขามีพรสวรรค์ไร้ขีดจำกัด เขาเริ่มสนใจหมากล้อม และเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มากเขาใช้เวลาฝึกฝนหมากล้อม จนกลายเป็นนักกีฬาเยาวชน และทีมชาติ ต่อมาน้องแบงค์ได้เข้าวงการ e-sport เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า e-sport ทำให้คนพิการอย่างเขา มีตัวตนขึ้นมาได้ เพราะโลกออนไลน์ไม่ได้ตัดสินเขาจากรูปลักษณ์ของคนพิการ https://fb.watch/giXEI1ZLUD/
สถานการณ์โควิด เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งของน้องแบงค์ เพราะถ้าโควิดลงปอด การหายใจจะล้มเหลวอย่างรวดเร็ว ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ครอบครัวของเขาติดโควิดกันไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นน้องแบงค์รอดมาได้ไม่ติดโควิด แต่ในเดือนมีนาคมปีนี้น้องแบงค์ติดโควิด และไม่ยอมไปโรงพยาบาล มีอาสาสมัครได้เอายาฟาวิพิราเวียร์มาให้ถึงที่บ้าน นำเครื่องผลิตออกซิเจนไปให้ใช้ ทางเยือนเย็นฯ เป็นสะพานบุญนำเครื่องดูดเสมหะพร้อมสายไปให้น้องใช้ น้องแบงค์มีเสมหะมากแต่เขาสามารถจัดการดูดเสมหะได้ด้วยตนเอง และผ่านวิกฤติมาได้อย่างหวุดหวิด
เมื่อผ่านจากโควิดมาได้ น้องแบงค์มักมีอาการเหนื่อยมากขึ้น เสมหะมากขึ้น ต้องใช้เวลาดูดเสมหะด้วยตนเองทุกเช้าเกือบหนึ่งชั่วโมง แม้ร่างกายมีความผิดปกติ แต่เขาสามารถหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ ด้วยการทำงานเทรดหุ้นผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อความไม่ประมาท ทุกครั้งที่เขาป่วยหนัก เขาจะบอกน้องสาวไว้ว่า รหัสเข้าธุรกรรมของเขาคืออะไร


แต่ล่าสุดไปหาหมอทางเดินหายใจ เค้าบอกมาว่าถึงเวลาต้องตัดสินใจ On BiPAP จริงจังแล้ว ไม่งั้นจะตายเพราะภาวะคาบอนไดออกไซด์คั่ง อย่างเร็วคือ 2 ปี อย่างช้าคือ 5 ปี”



เราแนะนำน้องแบงค์ว่า “ถ้าเมื่อไรคิดว่า ชีวิตที่อยู่แบบนี้น่าทรมานเกินไปเสียแล้ว บอกเรานะ มีวิธีทำให้อยู่ได้แบบไม่ทรมาน ก็คือกินมอร์ฟีน” มอร์ฟีนชนิดกิน แม้เพียงเล็กน้อย จะทำให้แบงค์หายเหนื่อยได้ แต่ออกซิเจนในเลือดจะต่ำลง คาร์บอนไดออกไซด์จะสูงขึ้น ทำให้เขาหลับสบาย แบงค์สามารถเลือกกินยาได้เท่าที่จะทำให้เขารู้สึกสบาย ไม่เป็นการเร่งให้ตาย และไม่ได้เป็นการยื้อ เราคุยเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว แต่แบงค์ก็เลือกที่จะอดทนกับความเหนื่อยและไม่กินมอร์ฟีนเสียที จนกระทั่งคราวนี้ น้องแบงค์ได้ลองกินมอร์ฟีน ครั้งละ 1 มิลลิลิตร เขาก็รู้สึกสบายขึ้น หลับได้ เมื่อตื่นขึ้นแล้วรู้สึกเหนื่อยอีกก็กินอีก
หลังจากที่เขาได้พบทางออกในชีวิตแล้ว ก็ไม่พูดถึงการุณยฆาต หรือสวิสอีกเลย น้องแบงค์ได้ไปซ้อมหมากล้อมเท่าที่จะไปไหว ผ่านไปกว่าสามเดือน อาการเหนื่อยเพิ่มขึ้น น้องแบงค์จึงกินมอร์ฟีนเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่รวมวันหนึ่งก็ไม่เกิน 15 มิลลิลิตร
ในคืนก่อนวันสุดท้าย น้องแบงค์รู้สึกเหนื่อยมากกว่าทุกวัน กินมอร์ฟีนแล้ว 5 มล. เริ่มมีไข้ ไอ ดูดเสมหะจนเหนื่อย ท้องเสีย อ่อนแรงลง นอนได้แต่ท่าตะแคง ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ในตอนเช้าน้องแบงค์ขอให้น้องสาวเปิดเพลงโปรดให้ฟัง สักพักอ่อนแรงลง หายใจเร็ว หลับและหมดสติไป เราได้ไปเยี่ยมน้องแบงค์เป็นครั้งสุดท้าย ท่ามกลางครอบครัวเข้าใจสถานการณ์ดี แม่กุ้งแจ้งข่าวพี่น้อง คุณอาและคุณยาย แล้วน้องแบงค์ก็จากไปอย่างสงบและอบอุ่นที่บ้านพร้อมหน้าทุกคนที่เขารัก
ขอขอบคุณแม่กุ้งที่อนุญาตให้เผยแพร่เรื่องราวและรูปภาพ 




