ตายที่บ้าน ไม่แพงและไม่มีอะไรยุ่งยาก

ตายที่บ้าน ไม่แพงและไม่มีอะไรยุ่งยาก

ถ้าสถานที่ตายที่คุณปรารถนา คือ ‘บ้าน’ ที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนและบรรยากาศอันคุ้นเคย แต่คุณกลัวความยุ่งยาก กลัวความเจ็บปวดจากอาการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย กลัวค่าใช้จ่ายที่อาจแบกรับไม่ไหว หรือกลัวว่ามันจะเป็นไปไม่ได้
.
มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ ศ. ดร. นพ. อิศรางค์ นุชประยูร ผู้อำนวยการ “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ขับเคลื่อนเรื่องการ “ตายดี” ในสังคมไทย มาตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยให้บริการด้านคำปรึกษาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่าที่จำเป็น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัวในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ และทำความปรารถนาของผู้ที่ต้องการตายดีที่บ้านให้กลายมาเป็นความจริง
.
“หลายครั้งผู้ป่วยจะบอกผมว่า เขาไม่กลัวตาย แต่กลัวทรมานมากกว่า และโรงพยาบาลก็มีเงื่อนไขเต็มไปหมด ไหนจะเรื่องการเดินทาง รอคิวพบหมอเป็นชั่วโมง และความไม่สะดวกสบายต่างๆ บางเคสจากเดินเหินปกติ แต่พอนอนโรงพยาบาลติดกันหลายวัน กลับบ้านมาเป็นคนติดเตียงไปเลยก็มี กลายเป็นว่าการอยู่โรงพยาบาลนี่แหละคือความทุกข์ทรมานที่สุดของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่คุณภาพชีวิตที่ดีเลย”
.
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรครักษายากและจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน การดูแลแบบประคับประคองถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนการ “ต่อสู้” เพื่อรักษาโรคให้หาย มาเป็นการรักษาตามอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยมีช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสงบและไม่ต้องทุกข์ทรมานจากกระบวนการรักษาที่ไม่จำเป็น โดยคุณหมออิศรางค์บอกว่าการจะตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ทั้งครอบครัวและผู้ป่วยควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์เสียก่อน
.
“อย่างผมจะถามผู้ป่วยว่า ไหวไหม ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ต้องการอะไรมากที่สุด หรือถามถึงความทุกข์ทรมานจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งผมมีหน้าที่สื่อสารเรื่องนี้ให้ทุกคนในครอบครัวรับรู้แทนผู้ป่วย และผมจะเคารพการตัดสินใจของเขาที่เป็นเจ้าของชีวิตมากที่สุด”
“ถ้าเขาไม่อยากไปโรงพยาบาลแล้ว ทุกคนก็ต้องเข้าใจ”
.
“ถ้าความเห็นคนในครอบครัวเห็นตรงกันหมดก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีหลายครั้งที่ญาติเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะญาติที่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยที่มักต้องการยื้อผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่นานๆ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จึงไม่รู้ถึงความยากลำบากที่ผู้ป่วยต้องเผชิญทุกวัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องฟังความเห็นจากญาติที่ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะเขาจะรู้ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยมากที่สุด แล้วค่อยหาข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งในจุดนี้อาจต้องมีหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจให้กับทุกคนในครอบครัว
.
“ผมพบว่าผู้สูงอายุที่รู้ว่าเวลาของตัวเองเหลืออีกไม่นาน มักมีความต้องการเหมือนๆ กัน คืออยากกินของชอบ กับ อยากไปเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกห้ามจากลูกหลานที่กลัวอาการของพ่อแม่จะแย่ลง แต่ถ้าเราช่วยพวกเขาทำสิ่งที่อยากทำได้ แม้จะป่วยหนักแค่ไหนก็ตาม ทั้งเราและคนที่เรารักก็จะมีความสุขร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายได้
.
“บางบ้านพ่อที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอยากกินของอร่อย หรือดื่มเบียร์อย่างที่เคยดื่ม ลูกก็จะห้ามตลอดเพราะเป็นของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้พ่อไม่ได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ เมื่อไม่มีความสุขทั้งกายและใจ ก็ไม่รู้จะอยู่ไปนานๆ ทำไม ซึ่งต่อให้รักษาตัวหรือยื้อชีวิตไปนานแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบมันก็ไม่ใช่ชีวิตที่น่าอยู่สำหรับเขาอยู่ดี ในเมื่อกินก็ตาย ไม่กินก็ตาย ก็ปล่อยให้เขากินสิ่งที่อยากกินไปดีกว่า
.
“มีอยู่เคสหนึ่งผู้ป่วยทรมานจากการทำคีโมจนไม่เอาแล้ว ขอกลับมาอยู่บ้าน ลูกสาวที่ดูแลเห็นแม่กินไม่ได้ก็เครียด ซึ่งผมก็บอกไปว่า ไม่เป็นไร มันเป็นธรรมชาติของโรคมะเร็ง ยังไงร่างกายของคุณแม่ก็ต้องผอมลง แต่จิตใจของท่านยังแข็งแรงเหมือนเดิม และท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ปวดหัวมีไข้ก็กินยา แล้วเราก็ปล่อยให้ท่านได้ทำสิ่งที่ชอบอย่างสวดมนต์หรือฟังเพลง เพื่อให้ท่านอยู่บ้านอย่างสงบสุข”
.
คุณหมอแนะนำว่า “ตายที่บ้านนั้นไม่แพงและไม่มีอะไรยุ่งยาก” ในวันที่ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ เราก็เพียงแจ้งเจ้าหน้าที่ตามขั้นตอนให้เรียบร้อย ควรมีเอกสารยืนยันโรคที่ผู้ป่วยเป็น ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาล (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้านตัวจริง ซึ่งเจ้าของบ้าน หรือคนในบ้านต้องเป็นคนแจ้งตายด้วยตัวเอง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องแจ้งกับสำนักงานเขต ถ้าต่างจังหวัดให้แจ้งที่ว่าการอำเภอกับเทศบาล และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยมี “หนังสือแสดงเจตนา (Living Will)” เพื่อบอกความประสงค์ต้องการรักษาตัวและตายอย่างสงบที่บ้าน
.
แม้สังคมไทยจะตระหนักเรื่องดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคหลายประการ หลายโรงพยาบาลยังไม่มีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และชีวิตของผู้ป่วยมักถูกแทรกแซงการตัดสินใจจากญาติพี่น้องที่ไม่เข้าใจ รวมถึงสังคมไทยยังไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องการออกแบบความตายอย่างเพียงพอ ทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่รู้ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร และหลายๆ ครั้งผู้ป่วยก็ไม่กล้าบอกสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งนำไปสู่การตายอย่างทุลักทุเล ไม่ราบรื่น…ไม่สงบสุข
.
“ในระหว่างที่ผมทำเรื่องนี้ ก็เจอคนมาว่า มาวิจารณ์สารพัด แต่ผมอยากให้นึกถึงความต้องการของผู้ป่วยมากกว่าเหตุผลอื่นๆ ในเมื่อชีวิตเป็นของเขา ก็ควรให้เขาได้เลือกเอง ถ้าเขามีโอกาสหายสูงผมก็บอกให้สู้อยู่แล้ว แต่ถ้าเขาอยากตายสงบที่บ้านผมก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่”
.
ปัจจุบันพื้นที่การดูแลของเยือนเย็นโดยมากยังอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งในอนาคตทางเยือนเย็นมีความตั้งใจที่จะขยายพื้นที่ดูแลให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย
.
“เราไม่มีสำนักงาน เพราะเน้นเข้าไปดูแลถึงบ้านของผู้ป่วย ช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์ รับฟังและให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจทั้งแบบไปหาที่บ้าน และออนไลน์ ซึ่งทุกคนที่เราดูแลก็บอกเหมือนกันว่า เราทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจริงๆ”
.
สำหรับใครที่ต้องการคำแนะนำสำหรับดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
สามารถปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ : เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม
หรือโทร 080 776 6712